เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 7. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การหลับ
การตื่น การพูด การนิ่ง
[296] ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยสันโดษ อริยอินทรีย-
สังวร และอริยสติสัมปชัญญะนี้แล้วพักอยู่ ณ เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้
ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าทึบ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาต
ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์1 ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า
ภิกษุนั้นละอภิชฌาในโลก มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา
ละพยาบาทและความมุ่งร้าย มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่
ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากพยาบาทและความมุ่งร้าย ละถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม)
เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์
จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและความรำคาญใจ)ได้แล้ว เป็นผู้
ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบในภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา
(ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีวิจิกิจฉาในกุศลธรรมอยู่ ชำระจิตให้
บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา

รอยพระบาทของพระตถาคต

[297] ภิกษุนั้นละนิวรณ์ 5 ประการนี้ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตและ
เป็นเหตุทำปัญญาให้อ่อนกำลังได้แล้ว สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ข้อนี้เราเรียกว่า
'ตถาคตบท2'บ้าง 'ตถาคตนิเสวิต3'บ้าง 'ตถาคตรัญชิต4'บ้าง อริยสาวกก็ยังไม่
ด่วนตัดสินใจว่า 'พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็น

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 2 ข้อ 107 (มหาสติปัฏฐานสูตร) หน้า 102 ในเล่มนี้
2 ตถาคตบท หมายถึงทางแห่งญาณ หรือร่องรอยแห่งญาณของพระตถาคต ได้แก่ ฐานที่ญาณเหยียบแล้ว
กล่าวคือ ฌานทั้งหลายมีปฐมฌานเป็นต้น เป็นพื้นฐานแห่งญาณชั้นสูง ๆ ขึ้นไปของพระตถาคต (ม.มู.อ.
2/297/125)
3 ตถาคตนิเสวิต หมายถึงฐานที่ซี่โครงคือญาณของพระตถาคตเสียดสีแล้ว (ม.มู.อ. 2/297/125)
4 ตถาคตรัญชิต หมายถึงฐานที่พระเขี้ยวแก้วคือญาณของพระตถาคตกระทบแล้ว (ม.มู.อ. 2/297/125)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :326 }